เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่น ได้เจอกับ “ซูเปอร์ไต้ฝุ่น นันมาดอล (Nanmadol)” ที่พัดขึ้นมาทางตอนใต้ของเกาะคิวชู ซึ่งถือเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดที่ ญี่ปุ่น ได้เจอในรอบหลายสิบปี จนปัจจุบัน (20 ก.ย. 2565) ได้คร่าชีวิตไปแล้ว 2 ชีวิตและบาดเจ็บแล้วกว่า 90 คน

แล้วเจ้าซูเปอร์ไต้ฝุ่นคืออะไร แล้วภัยพิบัติครั้งนี้จะร้ายแรงขนาดไหน ไปดูพร้อมๆ กันเลย

ซูเปอร์ไต้ฝุ่นคืออะไร?

ซุเปอร์ไต้ฝุ่น คือ พายุที่มีกำลังลมแรงกว่า 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในขณะที่ไต้ฝุ่นธรรมดาจะความแรงอยู่ที่ 120 – 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งเทียบได้กับพายุเฮอริเคนระดับ 4 หรือ 5 ในชาติตะวันตก 

ในบ้านเราจะไม่ได้เจอพายุไต้ฝุ่นบ่อยนัก โดยพายุที่เรามักจะได้เจอจะมีพายุดีเปรสชั่น (ความเร็วไม่เกิน 61 กม./ชม.) และพายุโซนร้อน (ความเร็ว 62 – 117 กม./ชม.)

พายุไต้ฝุ่นนันมาดอลที่ถล่มญี่ปุ่นอยู่ ณ ขณะนี้ ถูกจัดอันดับความรุนแรงในระดับซูเปอร์ไต้ฝุ่นโดยศูนย์เตือนภัยร่วมของกองทัพสหรัฐฯ  ซึ่งหมายความว่า “นันมาดอล” ถือเป็นพายุที่ร้ายแรงที่สุดที่่ ญี่ปุ่น เคยเจอมาในรอบหลายสิบปี

ผลกระทบของซูเปอร์ไต้ฝุ่นนันมาดอล

กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นได้ประกาศ “เตือนภัยภิเศษ” ที่เรียกได้ว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และถือว่าเป็นระดับที่รองสูงสุดในจังหวัดคาโกชิมะ คุมาโมโตะ และมิยาซากิ บนเกาะคิวชู ซึ่งมีประชากรรวมกันมากถึง 13 ล้านคน

ทางการ ญี่ปุ่น ประกาศระงับให้บริการการเดินทางต่างๆ ตั้งแต่รถไฟ เรือเฟอร์รี่ และเที่ยวบินหลายร้อยเที่ยว ในขณะที่หลายพื้นที่มีเหตุน้ำท่วมอย่างหนักและดินถล่ม ทำให้มีผู้ติดค้างในศูนย์พักพิงจำนวนหลายแสนคน และเกือบ 350,000 ครัวเรือนต้องไม่มีไฟฟ้าใช้ นอกจากนั้นบนเกาะคิวชู ก็มีน้ำท่วมหนักเพราะมีฝนตกหนักราวๆ 400 มิลลิเมตร ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยได้กำหนดเกณฑ์ปริมาณฝนที่หนักที่สุดในไทยอยู่ 90.1 มิลลิเมตรขึ้นไป นั่นหมายความฝนตกที่เกาะคิวชูตอนนี้หนักกว่าเกณฑ์สูงสุดกว่า 4 เท่าตัว

ซูเปอร์ไต้ฝุ่นนันมาดอลทำน้ำท่วมหนักบนเกาะคิวชู

มีการคาดการณ์ว่าซูเปอร์ไต้ฝุ่นนันมาดอลจะเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกและจะถึงกรุงโตเกียวภายในวันนี้ (20 ก.ย. 2565) ก่อนจะพาดผ่านเกาะฮอนชูและออกทะเลภายในวันที่ 21 กันยายน 2565 ที่จะถึงนี้

นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เรียกร้องให้ประชาชนอพยพโดยทันทีหาก “รู้สึกถึงอันตรายแม้เพียงเล็กน้อย” พร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่ในที่ประชุม “ดำเนินมาตรการที่เป็นไปได้ทั้งหมดเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนด้วยความเร่งด่วน” และมีคำสั่งให้อพยพประชาชนกว่า 4.3 ล้านคนในหลายพื้นที่ของเกาะคิวชูภายใต้การเตือนระดับ 4

ทั้งนี้ จังหวัดฟุกุโอกะ, คุมาโมโตะ, มิยาซากิ และนางาซากิ ต่างก็ทำตามแนวทางของจังหวัดคาโกชิมะ โดยใช้กฎหมายบรรเทาสาธารณภัยในทุกเขตเทศบาล เพื่อเปิดรับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง