ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตามองและยกระดับให้ โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg birus disease) เป็นโรคอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง หลังจากที่พบมีการระบาดในประเทศอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) โดยมีผู้ติดเชื้อหลายรายและมีผู้เสียชวิตจากโรคนี้ไปแล้วกว่า 9 ราย ในขณะนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่เป็นโรคที่พบเป็นครั้งแรก เพราะ WHO เคยได้ออกมายืนยันถึงการระบาดของไวรัสมาร์บวร์กในกานาครั้งแรกจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย และมีผู้ติดเชื้อกว่า 100 รายที่ต้องทำการกักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ เมื่อช่วงกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา 

ภาพจาก : https://www.medpagetoday.com/

การระบาดของเชื้อไวรัสมาร์บวร์กขยายเป็นวงกว้าง จากประเทศกานา สู่ อิเควทอเรียลกินี เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิติมากขึ้น กลายเป็นโรคติดต่ออันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายได้เร็ว ติดต่อกันได้ง่าย เมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง และ 90 % ของผู้ติดเชื้อจะเสียชีวิตภายในเวลา 7 วัน!

เราจะมาทำความรู้จักกับโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก การติดต่อของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก สาเหตุเกิดจากอะไร การรักษา และวิธีป้องกันตนจากโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กต้องทำอย่างไร เพื่อลดการระบาดของเชื้อโรคไม่ให้แผ่ขยายวงกว้างจนส่งผลกระทบกับระบบชีวิตและเศรษฐกิจโลกเหมือนตอนเกิดการระบาดโรคโควิด-19 

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กคืออะไร

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก คือ ไวรัสตระกูล ฟิโลไวริเดอี (Filoviridae) ชนิดเดียวกับไวรัสอีโบลา (Ebola) ที่ก่อให้เกิดไข้เลือดออกรุนแรงในมนุษย์ และติดต่อแพร่ระบาดได้ง่าย (Hihhly infectious) 

เชื้อไวรัสมาร์บวร์กถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อไร

แม้ว่าตามข้อมูล จะพบการระบาดของโรคจนทำให้มีผู้เสียชีวิตในกานาครั้งแรกเมื่อปลายปี 2022 แต่เชื้อไวรัสมาร์บวร์กกลับถูกพบครั้งแรกในปี 1967 จากการติดเชื้อในห้องทดลองเมืองมาร์บวร์ก ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ได้รับเชื้อจากลิงเขียวที่นำเข้าจากยูกันดาเพื่อใช้ในการวิจัยสำหรับทดลองการผลิตวัคซีนโปลิโอ เชื้อได้แพร่ระบาดในกลุ่มพนักงาน และหลุดรอดออกจากห้องปฏิบัติการจนระบาดทั่วเมืองมาร์บวร์กและแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และ เมืองหลวงของเซอร์เบีย อย่าง เบลเกรด จึงเป็นที่มาของชื่อไวรัสมาร์บวร์ก ต่อมามีการพบการระบาดในคองโก เคนยา ซิมบับเว ยูกันดา แองโกลา และกินี และอีกกรณีหนึ่งที่มีหญิงสาวได้รับเชื้อนี้หลังจากเดินทางไปเที่ยวชมถ้ำงูไพธอนในป่ามารามากามโบ (Maramagambo) ในประเทศยูกันดา เมื่อปี 2008 

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก สาเหตุเกิดจากอะไร 

ไวรัสมาร์บวร์กและไวรัสอื่น ๆ ที่อยู่ในตระกูล Filoviruse มีสัตว์เลือดอุ่นเป็นพาหะ เช่น ค้างคาว ลิง ลิงไม่มีหาง (Apes) โดยเฉพาะ ค้างคาวผลไม้อียิปต์ (Rousettus Aegyptiacus) สาเหตุที่ทำให้มีแพร่กระจายของเชื้อโรคในสัตว์สู่การระบาดโรคในมนุษย์ เกิดจากมนุษย์สัมผัสโดยตรงกับตัวสัตว์พาหะ หรือถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านั้น การไปสัมผัสหรืออยู่ในบริเวณที่เป็นแหล่งอาศัยของค้างคาว เช่น ถ้ำ เหมือง โพรงไม้ หรือบุกรุกป่า รวมไปถึงการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า ทำให้เชื้อไวรัสจากสัตว์แพร่สู่คนได้ง่าย 

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก อาการ 

หลังได้รับเชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-21 วัน จากนั้นจะเริ่มมีอาการไข้สูง ไม่สบายหนัก ปวดศีรษะรุนแรง ปวดเมื่อยเนื้อต้ว ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ปวดท้อง เป็นตะคริว วันต่อมาจะเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องหนักขึ้น ท้องร่วงเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 3 วัน มีผื่นขึ้นแต่ไม่มีอาการคันบริเวณหน้าอก หลัง หรือช่วงท้อง 

เมื่อเข้าสู่วันที่ 3 ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น มีไข้สูงต่อเนื่อง มีอารมณ์หงุดหงิด สับสน ก้าวร้าวรุนแรง จากผลกระทบความผิดปกติในระบบประสาทส่วนกลาง ในผู้ป่วยชายอาจมีการอักเสบที่อัณฑะร่วมด้วย ตลอดระยะเวลาที่มีอาการปรากฏ ผู้ป่วยจะมีอาการเซื่องซึม ซีดเซียว ไร้เรี่ยวแรง ดวงตากลวงลึก สภาพคล้ายผีซาก (Ghost-like) ใบหน้าไร้ความรู้สึก และมีอาการง่วงนอนตลอดเวลา 

ระบบการทำงานของอวัยวะหลายส่วนทำงานผิดปกติ จนกระทั่งเข้าสู่วันที่ 7 ผู้ป่วยจะมีเลือดออกรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด มีเลือดออกจากจมูก เหงือก และช่องคลอด และเสียชีวิตเนื่องจากการเสียเลือดมากจนช็อก 

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก การติดต่อและแพร่กระจายเชื้อช่องทางใดได้บ้าง 

เชื้อไวรัสมาร์บวร์กสามารถแพร่ได้ทางการสัมผัสผ่านผิวหนังที่มีบาดแผล และเยื่อบุต่าง ๆ จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำลาย น้ำมูก เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำอสุจิ และของเหลวอื่น ๆ ของผู้ติดเชื้อ ที่ปนเปื้อนบนพื้นผิววัสดุต่าง ๆ ทั้งที่เป็นของใช้ส่วนตัว ของร่วมสาธารณะ หรือการใช้เข็มร่วมกัน รวมไปถึงสถานที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ เช่น ป่า ถ้ำ โพรง เป็นต้น 

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก การรักษาด้วยวิธีใด 

การวินิจฉัยทางคลินิกของโรคมาร์บวร์ก ยังคงเป็นเรื่องยากและไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากอาการของโรคหลาย ๆ อาการมักจะแสดงออกคล้ายกับโรคติดเชื้อประเภทอื่น ๆ เช่น อีโบลา มาลาเรีย หรือไข้ไทฟอยด์ และ ยังไม่มียาต้านไวรัสหรือวัคซีนป้องกันโรคมาร์บวร์กโดยตรง มีเพียงแต่การรักษาตามอาการเพื่อประคับประคองให้มีโอกาสรอดชีวิต อาจจะมีการนำยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคอีโบลามาใช้กับผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก แต่ก็ยังไม่ได้มีการทดสอบและพิสูจน์ในทางการแพทย์ว่าจะได้ผลหรืออย่างไร 

โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ป้องกันได้อย่างไร 

เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนและยารักษาโรคเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ดังนั้น การเพิ่มความตระหนักรู้ลักษณะการแพร่ระบาดให้ประชาชนได้เข้าใจ เฝ้าระวัง ทั้งในเรื่องของการรักษาความสะอาด การระวังตัวเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ การป้องกันตนเองในด้านการมีเพศสัมพันธ์ การแยกผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยติดเชื้อ รวมไปถึงมาตรการป้องกันโควิด19 อย่าง การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง นับว่าเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้เช่นกัน  เพื่อให้ประชาชนได้มีความเตรียมพร้อมในการดูแลตนเองและคนใกล้ชิด ถือว่าเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสมาร์บวร์กได้ดีที่สุดในขณะนี้