ใครเป็นทาสหมาและใจละลายทุกครั้งที่ได้เห็นเจ้าต้าวสี่ขาตัวน้อยกันบ้างคะ รู้ไหมเอ่ย วันที่ 23 มีนาคม ของทุกปี คือ วันลูกหมาแห่งชาติ หรือ National Puppy Day 

อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ มีวันลูกหมาแห่งชาติจริง ๆ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 โดย คอลลีน เพจ (Colleen Paige) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงและพฤติกรรมสุนัข (และยังเป็นผู้จัดตั้งวันแมวแห่งชาติด้วยเช่นกัน) แต่กระแสการเฉลิมฉลองวันลูกหมาแห่งชาติเพิ่งจะมาได้รับความสนใจอย่างจริงจัง และแชร์ผ่านทางโซเซียลเพื่อฉลองวันดังกล่าวกันทั่วโลก เมื่อปี 2555 

โดยจุดประสงค์ในการจัดตั้งวันลูกหมาแห่งชาติ นอกจากฉลองให้กับความน่ารักน่าเอ็นดูที่แสนซื่อของเจ้าตูบตัวน้อย ยังเป็นการให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์ร่วมโลกที่เป็นมิตรแท้ของมนุษย์อย่างสุนัข ให้ผู้คนมีจิตใจเมตตาต่อลูกสุนัขและสัตว์จรจัดไร้บ้าน และให้ผู้คนได้เข้าใจถึงความน่ากลัวและโหดร้ายของโรงงานผลิตลูกสุนัข เพื่อหยุดส่งเสริมธุรกิจอันทารุณกรรมสัตว์ด้วยการเมตตารับอุปการะลูกสุนัขจรจัดแทนการซื้อขาย 

สำหรับกิจกรรมวันลูกหมาแห่งชาติ ทาสหมาและเจ้าของสุนัขทั่วโลกจะร่วมกันเฉลิมฉลองให้กับเจ้าตูบน้อยที่บ้านด้วยวิธีต่าง ๆ แชร์ภาพถ่ายความน่ารักของตูบตัวน้อยของตนทางโซเชียล นำอาหารไปเลี้ยงสุนัขจรจัดหรือบริจาคตามมูลนิธิสัตว์ สมทบเงินบริจาคช่วยเหลือสุนัขไร้บ้านผ่านช่องทางต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมจัดงานหาบ้านให้น้องหมา มีผู้คนให้ความสนใจไปเยี่ยมชมและรับอุปการะลูกสุนัขหรือสัตว์ไร้บ้าน เป็นการให้ความช่วยเหลือให้ลูกสุนัขมีบ้าน มีอาหารและการดูแลในยามเจ็บป่วย ลดภาระปัญหาสัตว์จรจัด และยังเป็นการช่วยเหลือชีวิตสุนัขจากการถูกทารุณกรรมในการเพาะพันธุ์ลูกสุนัขเพื่อธุรกิจ 

สำหรับใครที่ต้องการจะรับอุปการะน้องหมามาเลี้ยงไว้ที่บ้าน เรามีคู่มือเลี้ยงลูกหมาขั้นพื้นฐานมาฝากทั้งทาสหมามือใหม่และทาสหมามือโปรมาฝากในวันลูกหมาแห่งชาติด้วยค่ะ 

การเตรียมพร้อมก่อนรับเลี้ยงลูกสุนัข 

สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนที่จะรับลูกหมามาเลี้ยง 

อาหาร 

ลูกหมาที่มีอายุช่วง 1-2 เดือน ต้องใส่ใจเรื่องอาหารเป็นพิเศษ เนื่องจากฟันของน้องหมายังไม่งอกและระบบย่อยอาหารยังทำงานได้ไม่เต็มที่นัก ควรเลือกอาหารสูตรเฉพาะลูกสุนัข เลี่ยงนมวัวอย่างเด็ดขาด เพราะระบบย่อยอาหารของน้องหมาไม่สามารถย่อยโปรตีนในนมวัวได้ จะทำให้น้องหมาท้องเสีย อาเจียน และบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเป็นอันตรายได้ และห้ามให้อาหารของคนแก่ลูกสุนัขกินเด็ดขาด เนื่องจากอาหารของคนส่วนใหญ่มีการปรุงรสต่าง ๆ และระบบการย่อยอาหารของลูกหมายังไม่แข็งแรง อาจแพ้อย่างรุนแรง หรือได้รับคุณค่าโภชนการทางอาหารมากเกินไป ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ อีกทั้งการฝึกให้ลูกหมากินอาหารของคนตั้งแต่ยังเล็ก จะยิ่งฝึกให้กินอาหารหมายากมากขึ้น

สถานที่ 

การเตรียมสถานที่ให้เหมาะสมกับลูกสุนัขก็เป็นอีกสิ่งที่จำเป็นทั้งต่อตัวน้องหมาและเจ้าของด้วยเช่นกัน ควรเป็นสถานที่เป็นมิตรและปลอดภัยต่อน้องหมา มีการแบ่งโซนให้ชัดเจน ทั้งในพื้นที่นอน ที่กินอาหาร บริเวณที่เล่น และโซนขับถ่าย เพื่อให้น้องหมาได้ฝึกการเรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็ก ควรเก็บสิ่งของที่เสี่ยงให้เกิดอันตรายแก่น้องหมาได้ เช่น สายไฟ ปลั๊กไฟ ของมีคม สารเคมี ของชิ้นเล็ก ๆ ที่สามารถเข้าปากและกลืนได้ ยิ่งถ้าเป็นน้องหมาที่ฟันกำลังงอก เขี้ยวกำลังขึ้น ควรจัดบริเวณที่ของน้องหมาให้ห่างจากเฟอร์นิเจอร์ หรือของมีค่าและสิ่งของเครื่องใช้ราคาแพงต่าง ๆ เช่น โซฟา พรม รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น เพราะรับรองได้ว่า น้องหมาจะไม่ปล่อยให้มันหลุดรอดคมฟัน สร้างความปวดหัวให้กับเจ้าของ ข้าวของเสียหาย และบางคนอาจเสียสติ โกรธจนลืมตัวทำร้ายน้องหมาหรือพาไปปล่อยเพื่อจบปัญหาความวุ่นวาย ดังนั้นทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของพวกเขาและเก็บข้าวของให้รอดพ้นจากน้องหมา เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเสียแต่เนิ่น ๆ ดีกว่าค่ะ 

โซนขับถ่ายเป็นอีกบริเวณที่สำคัญ เพราะคุณคงไม่อยากให้บ้านสกปรกไปด้วยของเสียจากฝีมือเจ้าตัวเล็กแน่ ๆ ควรเตรียมถาดรองและแผ่นซับฉี่ไว้ตรงจุดที่ต้องการ เมื่อไรที่เจ้าตูบน้อยทำท่ากระวนกระวาย เหมือนต้องการจะถ่ายเบา ถ่ายหนัก ให้รีบอุ้มตัวน้องหมาไปยังถาดฉี่ทันที ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เขาจะเรียนรู้และเริ่มขับถ่ายเป็นที่เป็นทางได้ด้วยตัวเองในครั้งต่อไป 

คนดูแล 

ลูกสุนัขก็เปรียบเสมือนเด็กเล็ก ที่ยังคงต้องการคนดูแลและเอาใจใส่ ก่อนจะรับลูกหมามาเลี้ยง จะต้องแน่ใจแล้วว่ามีคนคอยดูแล อย่าปล่อยให้ลูกหมาอยู่ตามลำพังเด็ดขาด เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเกิดอันตรายกับเขาเมื่อไร หลายคนที่ต้องเสียใจเพราะความประมาทของตน ทิ้งให้ลูกหมาอยู่เพียงตัวเดียว แล้วเกิดอุบัติเหตุจนทำให้น้องต้องกลับดาวหมาไปอย่างไม่มีวันกลับ นอกจากนี้การที่ต้องมีคนคอยดูแล เพราะลูกหมาต้องกินนมวันละหลายเวลา และการขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง จึงต้องคอยมีคนคอยดูแลในเรื่องพวกนี้ด้วย คงไม่มีใครกลับมาบ้านแล้วต้องเจอกับสภาพบ้านเละ อาหารเลอะเทอะ เปรอะเปื้อนไปด้วยฉี่และกองอึของลูกหมาเต็มบ้านใช่ไหมล่ะ  

อาหารสำหรับลูกหมาอายุ 1-3 เดือน 

อาหารในแต่ละช่วงอายุจะแตกต่างกันไปตามพัฒนาการลูกสุนัขที่เติบโตขึ้น  

อาหารลูกสุนัข 1 เดือน 

ลูกสุนัขในช่วง 4 สัปดาห์แรก ต้องการสารอาหารจากนมอย่างสม่ำเสมอ ดูได้จากลูกสุนัขที่อยู่กับแม่หมาทั่วไปที่ต้องดูดนมแทบจะทั้งวัน ในช่วงอายุ 1 เดือนนี้ ไม่ควรให้อาหารอย่างอื่น เพราะระบบย่อยอาหารของลูกหมายังไม่แข็งแรง ไม่สามารถย่อยอาหารทั่วไปได้ ควรให้นมวันละ 4-5 ครั้ง โดยใช้นมสูตรลูกสุนัขโดยเฉพาะ อาจชงใส่ขวดนมเพื่อความสะดวกในการป้อน หากน้องหมาเริ่มหัดเลียนมจากถ้วยได้ สามารถฝึกให้น้องเลียนมในถ้วยอย่างค่อยไปค่อยไป เพื่อป้องกันการสำลักนม  

อาหารลูกสุนัข 2 เดือน 

ลูกสุนัขอายุ 2 เดือน จะเริ่มมีฟันน้ำนมงอก สามารถหัดให้กินอาหารเปียกสำหรับลูกสุนัขได้ หรือปรับเป็นการให้อาหารเม็ดสูตรลูกสุนัข แต่ควรเริ่มให้ทีละนิดก่อน และให้ผสมแช่กับนมเพื่อให้อาหารเม็ดนิ่ม เคี้ยวสะดวก และย่อยได้ง่าย ไม่ควรให้ระบบย่อยอาหารที่ยังบอบบางของน้องหมาทำงานหนัก จะเกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ การค่อย ๆ ให้อาหารเม็ดเป็นการฝึกให้น้องหมาคุ้นชินกับรสชาติ และเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตตามวัย 8 สัปดาห์ 

อาหารลูกสุนัข 3 เดือน 

เมื่อลูกสุนัขเริ่มเข้าสู่วัย 3 เดือน ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ฟันงอกเต็มที่ สามารถเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดแทนนมได้เต็มมื้อ สามารถให้อาหารลูกสุนัขทำเอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้ แต่ควรเป็นอาหารที่มีคุณค่าโภชนาที่เหมาะสมกับลูกสุนัขด้วย เพื่อให้เจ้าตูบตัวน้อยของคุณมีสุขภาพดีและร่างกายแข็งแรง 

สิ่งสำคัญและจำเป็นในการเลี้ยงลูกสุนัข

น้ำ 

ควรมีน้ำสะอาดตั้งไว้ให้ลูกสุนัขได้ดื่มตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนหรือวันที่มีอากาศร้อนจัด ห้ามขาดน้ำเด็ดขาด 

วัคซีน 

อยากให้ต้าวสี่ขาเติบโตแข็งแรง สุขภาพดีและอยู่กับเราไปนาน ๆ ต้องห้ามลืมฉีดวัคซีนลูกสุนัขเด็ดขาด โดยเฉพาะ วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข ตับอักเสบ ลำไส้อักเสบ เพราะโรคเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอันตรายร้ายแรงแก่ลูกสุนัข และคร่าชีวิตลูกสุนัขมานักต่อนักแล้ว แถมค่ารักษาสูงมาก ๆ เมื่อน้องเจ็บป่วย รวมถึง วัคซีนพิษสุนัขบ้า ที่เป็นโรคอันตรายสัตว์ติดคนและทำให้ตายได้

 การถ่ายพยาธิ 

  • ลูกสุนัข ควรรถ่ายพยาธิทุก ๆ 3 สัปดาห์ จนถึงอายุ  3 เดือน 
  • อายุ 3-6 เดือน ถ่ายพยาธิเดือนละครั้ง 
  • อายุ 6 เดือนขึ้นไป ถ่ายพยาธิทุก ๆ 3 เดือน 

พยาธิหนอนหัวใจ เกิดจากยุง 

พยาธิหนอนหัวใจ เกิดจากการถูกยุงที่มีเชื้อกัด ตัวอ่อนจะไปเจริญเติบโตและอาศัยอยู่ในหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจ ต้องป้องกันยุงกัดลูกสุนัขตั้งแต่อายุ 2-3 เดือน ด้วยการถ่ายพยาธิเดือนละครั้งไปจนตลอดชีวิต 

เห็บหมัด 

ปรสิตตัวร้ายสำหรับสัตว์สี่ขาและสมาชิกในบ้าน เพราะเห็บ หมัด เป็นต้นเหตุของโรคผิวหนัง รวมถึงโรคพยาธิเม็ดเลือด หมั่นทำความสะอาดเจ้าตูบน้อยและบริเวณที่อยู่อาศัยเพื่อควบคุมเห็บหมัด ด้วยผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดที่มีจำหน่ายทั่วไป เช่น แชมพู ยากิน ยาหยอดหลัง ปลอกคอ แป้ง เป็นต้น โดยเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย วัตถุดิบทำมาจากธรรมชาติ เพราะสารเคมีบางตัวอาจทำให้ลูกสุนัขระคายเคือง มีแผล ผื่นคันได้ และสังเกตวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์เสมอ 

การอาบน้ำลูกสุนัข 

ห้ามใช้แชมพูของคนกับลูกสุนัขเด็ดขาด เพราะค่า PH แตกต่างกัน อาจสร้างความระคายเคืองแก่น้องหมา ไม่ควรอาบน้ำลูกหมาถบ่อยเกินไป เพียงแค่สัปดาห์ละครั้ง หรือ 1 ครั้ง / 2 สัปดาห์ ก็เพียงพอแล้ว เพราะลูกหมายังตัวเล็ก และปอดก็เล็กมาก ๆ ด้วยเช่นกัน ค่อยเพิ่มความถี่ในการอาบน้ำเมื่อน้องหมาโตขึ้น และปล่อยแชมพูทิ้งไว้บนตัวน้องหมาประมาณ 5-10 นาที ระหว่างนี้ชวนน้องเล่น เมื่อครบเวลาแล้วจึงค่อยล้างแชมพูออกให้สะอาด เช็ดทำความสะอาดจนขนแห้ง จากนั้นค่อยแปรงขนเพื่อไม่ให้ขนพันกัน และควรแปรงขนทุกวันเพื่อรักษาสภาพเส้นขนและผิวหนังไปในตัว 

การทำหมัน 

สำหรับใครที่วางแผนจะทำหมันเมื่อลูกสุนัขโตขึ้น เพื่อลดปัญหาการติดสัดและตั้งท้อง หากไม่สะดวกจะเลี้ยงน้องหมาจำนวนมาก สามารถทำหมันน้องหมาได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย 

เพราะลูกหมาในวันนี้คือมิตรแท้ของเราในอนาคต จึงควรเลี้ยงพวกเขาด้วยความเมตตา เชื่อเถอะว่า พวกเขาจะรักคุณอย่างสุดหัวใจ หากใครกำลังมองหาหรือต้องการเพื่อนตัวน้อยมาเป็นสมาชิกในครอบครัว ลองเปิดใจและให้โอกาสกับน้องหมาจรแทนการซื้อ เพื่อมอบชีวิตที่ดีกว่าให้กับสัตว์ยากไร้ และปิดโอกาสการทารุณกรรมสัตว์จากการเพาะพันธุ์ลูกสุนัขเชิงพาณิชย์กันดีกว่าค่ะ