บทความนี้เราจะมารู้จักอาการเมื่อได้รับสารพิษไซยาไนด์ (Cyanide) เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ทันท่วงที อาจเป็นคนรอบข้างหรือแม้แต่ตัวเราเอง 

ไซยาไนด์อันตรายอย่างไร 

ไซยาไนด์ คือ สารพิษที่ประกอบไปด้วยก๊าซไฮโดรเจน ไซยาไนด์ , โซเดียม ไซยาไนด์ และ โพแทสเซียม ไซยาไนด์ ซึ่งเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติในพืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลัง หน่อไม้ ถั่วต่าง ๆ และจากการเผาไหม้ เช่น ท่อไอเสียรถ เป็นต้น สามารถการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้ทั้งในอากาศ น้ำ ดิน และ อาหาร ซึ่งการรับสารพิษตัวนี้เข้าสู่ร่างกายมีทั้งการสูดดม ซึมผ่านทางผิวหนัง ทางเยื่อบุ เช่น ดวงตา และ การกิน 

เมื่อสาร Cyanide เข้าสู่ร่างกาย ฤทธิ์ของไซยาไนด์จะไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ในร่างกาย และยังไปจับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจน ส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน ระบบกลไกทุกส่วนจึงหยุดการทำงานแบบฉับพลัน คนที่ได้รับไซยาไนด์จึงมีลักษณะเหมือนคนขาดอากาศหายใจตาย 

นอกจากนี้ ไซยาไนด์ยังไปกระตุ้นสาร nmda ในสมอง (สารสื่อประสาทในสมอง) ยับยั้งการสร้างกาบา และสารอื่น ๆ ในสมอง ทำให้เกิดภาพหลอน มึนงง ปวดศีรษะ หรือมีอาการบ้านหมุนฉับพลัน อาจชัก หมดสติ และเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายใน 10 นาที ดังนั้น การช่วยเหลือภายในช่วง 10 นาทีนี้จึงสำคัญต่อการรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างมาก  

อาการของผู้รับสารไซยาไนด์ 

ปวดศีรษะ หน้าแดง ร่างกายอ่อนแรง รู้สึกสับสน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายอัลมอนด์ ใจสั่น หมดสติ หรือถ้ามีการสัมผัสสารไซยาไนด์ผ่านทางผิวหนัง จะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีรอยแดงหรือเป็นสีชมพูเข้ม 

ปัจจัยที่ทำให้เราได้รับสารไซยาไนด์ 

การได้รับสารพิษไซยาไนด์อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้ 

  • การสูดดมหรือหายใจเอาควันที่มีการเผาไหม้วัตถุต่าง ๆ เช่น พลาสติก ยาง ผ้าบางประเภท 
  • ทำงานในกระบวนการที่มีการใช้ไซยาไนด์เป็นส่วนประกอบ เช่น ผลิตสารเคมี โรงงานอุตสาหกรรมชุบโลหะ เครื่องเงิน โรงงานพลาสติก การวิจัยสารเคมี การทำเหมืองแร่ ยาฆ่าแมลง ย่อมเสี่ยงต่อการหายใจ สูดดม หรือสัมผัส สารพิษไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกาย 
  • ได้รับจากอุปกรณ์เครื่องใช้ประจำวันที่เมื่อเผลอกลืนกินเข้าไป จะเปลี่ยนให้กลายเป็นไซยาไนด์ เช่น น้ำยาล้างเล็บ น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น 
  • ควันบุหรี่ เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้คนได้รับสารไซยาไนด์ เนื่องจากในบุหรี่จะมี cyanide ค่อนข้างมาก และพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะมีไซยาไนด์ในกระแสเลือดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบ 2.5 เท่า 
  • พืชบางชนิด เช่น เมล็ดและเปลือกในแอพริคอต พลัม พีช แพร์ แอปเปิล หากกินพืชเหล่านี้จำนวนมากเป็นเวลานาน ๆ จึงจะมีการสะสมและก่อให้เกิดอันตราย แต่สำหรับ หน่อไม้ มันสำปะหลัง ควรทานเมื่อสุกแล้ว 

เนื่องจากไซยาไนด์สามารถฆ่าคนตายได้ภายในเวลารวดเร็ว โดยเฉพาะหากกินไซยาไนด์เข้าไปในขณะที่ท้องว่าง พิษของไซยาไนด์ออกฤทธิ์และมีผลต่อร่างกายในเพียงไม่กี่นาที แต่ถ้ามีอาการอยู่เต็มกระเพาะจะช่วยหน่วงเวลาได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าเผลอสูดเอาไฮโดรเจนไซยาไนด์จำนวนมากเข้าไป จะเสียชีวิตภายในไม่กี่วินาทีเท่านั้น จึงควรให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็วเพื่อยื้อชีวิตคนป่วยให้ได้มากที่สุด 

การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับสารไซยาไนด์ 

  • กรณีสัมผัสไซยาไนด์ ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาด
  • กรณีกินไซยาไนด์เข้าไป อย่าทำให้อาเจียน 
  • กรณีสูดดมก๊าซ หรือมีก๊าซรั่วไหล รีบนำตัวผู้ป่วยออกจากสถานที่มีก๊าซให้เร็วที่สุด 
  • กรณีผู้ป่วยหมดสติ ห้ามผายปอดเด็ดขาด   
  • รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ข้อนี้สำคัญมาก 

ทุกกรณี ผู้ที่ให้การช่วยเหลือ อย่าผายปอด หรือทำการใด ๆ ที่จะทำให้สูดลมหายใจผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกายตนเองเด็ดขาด และควรสวมถุงมือเพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสโดนไซยาไนด์จากตัวผู้ป่วยโดยตรง