จากหัวข้อถกเถียงร้อนแรงในสภา ที่มีประเด็นมาจากภาพเหตุการณ์สมาชิกผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวโยงกับอาหาร จนทำให้มีคำว่า Food waste ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาระดับโลกที่เราทุกคนควรให้ความตระหนักและร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนจริง ๆ เพราะเราทุกคนรู้กันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันโลกของเราแปรปรวนอย่างหนัก สภาพภูมิอากาศแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ล้วนมาจากผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่ได้รับจากน้ำมือมนุษย์นั่นเอง วันนี้ Justelounge จะมาชวนทำความรู้จัก Food waste คืออะไร และประชาชนคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราจะช่วยลดขยะเศษอาหารได้อย่างไรบ้าง
ขยะเศษอาหารคืออะไร
ขยะอาหาร ภาษาอังกฤษเรียกว่า Food waste คือ เศษอาหารที่เหลือจากการบริโภค หรือเหลือทิ้งจากส่วนปลายห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) ทั้งจากผู้ผลิต จัดจำหน่าย และผู้บริโภค
ขยะอาหารมีอะไรบ้าง
ขยะอาหารมีทั้งในรูปแบบอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร ที่ไม่ควรนำมาบริโภคต่อ เพราะอาจเกิดปัญหาด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพได้
- อาหารส่วนเกิน คือ อาหารที่มีมากจนเกินความต้องการ อาจซื้อมาตุนไว้มาเกินไป หรือซื้อซ้ำจนทานไม่ทัน ทานไม่หมด แล้วอาหารหมดอายุ หรือร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ที่ซื้อสต็อกของไว้มากเกินไป แล้วจำหน่ายไม่หมด ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด หรืออาหารแห้ง รวมไปถึงอาหารบุฟเฟต์ที่ยังทานได้แต่เหลือ และอาหารที่ถูกคัดทิ้งเพราะช้ำจากการบรรจุไม่ดี หรือสินค้าเน่าเสียจากการขนส่งที่ล่าช้า
- ขยะอาหาร คือ เศษอาหารที่เหลือจากการบริโภค ถูกคัดหรือตัดทิ้งก่อนปรุง เศษผัก เปลือกผลไม้ อาหารสำหรับตกแต่งจาน และอาหารเน่าเสียเพราะการจัดเก็บไม่ดี
ปัญหาขยะอาหารเกิดจากอะไร
การจัดการของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงงาน หรือองค์กรต่าง ๆ พฤติกรรมการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย ขาดการวางแผนจัดการอาหารที่เหมาะสม การซื้ออาหารมากเกินความจำเป็น รวมไปถึงความสับสนต่อวันหมดอายุบนฉลากสินค้า ทำให้ทิ้งอาหารที่ยังทานได้ เช่น การสับสนสัญลักษณระหว่าง Best before , Best by (BB) ที่หมายถึง คุณภาพหรือคุณค่าทางโภชนาการอาหารจะลดลงหลังวันผ่านที่ระบุแจ้งบนฉลาก แต่ยังสามารถทานได้โดยไม่เป็นอันตราย กับ Expiry date คือ อาหารหมดอายุหลังจากวันที่ระบุไว้ ห้ามบริโภคเด็ดขาด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ซึ่งมักมีหลายคนทิ้งอาหารที่ยังไม่หมดอายุเพราะความเข้าใจผิด
ขยะอาหารส่งผลกระทบกับอะไรบ้าง
การทิ้งขยะเศษอาหารที่มีจำนวนมหาศาลในปัจจุบัน คือ การทำลายและทิ้งขว้างทรัพยากรและพลังงานจากธรรมชาติ เพราะทุกกระบวนการผลิตสินค้าอาหารล้วนแต่มีต้นทุนมากมาย เช่น
- สูญเสียพื้นที่ป่าไม้และทรัพยากรสัตว์ป่า จากการถางพื้นที่เพื่อการเพาะปลูกพืชในอุตสาหกรรม และการทำการเกษตร ฟาร์มสัตว์ ซึ่งพื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกนำไปใช้ผลิตอาหารโดยสูญเปล่าในแต่ละปี มีมากถึงร้อยละ 28 ทั่วโลก
- สูญเสียทรัพยากรน้ำ เพราะการเกษตรจำเป็นต้องใชน้ำในปริมาณมหาศาลในการเจริญเติบโตของพืชผักทุกชนิด เช่น ผักกาด 1 หัว ที่ต้องใช้น้ำเฉลี่ยมากกว่า 100 ลิตร ดังนั้น หากทิ้งผักกาดที่รูปร่างไม่สวยงาม เป็นการทิ้งน้ำไปโดยสูญเปล่ากว่า 100 ลิตร ซึ่งยังไม่รวมไปถึงปุ๋ยบำรุงและแรงงาน
- การปนเปื้อนของดิน แหล่งน้ำ และอากาศ จากการใช้สารเคมีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง สารกำจัดศัตรูพืช
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในส่วนของการผลิต การแปรรูปอาหาร การเก็บรักษา บรรจุภัณฑ์ ตลอดไปจนถึงการขนส่ง ตั้งแต่ต้นทางจนถึงผู้บริโภคที่เป็นปลายทาง ล้วนแต่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรมทั้งสิ้น
- ขยะอาหารที่ถูกทิ้งทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคม หรือ ภาคการบินถึง 4 เท่า!
ขยะอาหารกำจัดยังไงได้บ้าง
แยกขยะอินทรีย์ใส่ถุงต่างหาก ส่งต่อเทศบาล
เนื่องจากขยะอินทรีย์ คือ ขยะที่บูดเน่าเร็ว ย่อยสลายได้ง่าย และใช้เวลาย่อยสลายเร็วกว่าขยะประเภทอื่น ๆ ซึ่งกว่า 64% ของปริมาณขยะทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเป็นขยะอินทรีย์ เช่น เศษผัก เศษเนื้อสัตว์ เศษอาหารต่าง ๆ เปลือกผลไม้ เศษใบไม้ เป็นต้น
การแยกขยะ ช่วยให้มีขยะรีไซเคิลเพิ่มขึ้น แต่ลดปริมาณขยะลง ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพราะขยะไม่ถูกปนเปื้อนจากเศษอาหาร ทำให้ง่ายต่อการนำขยะไปกำจัดได้อย่างเหมาะสม เพิ่มความสะดวกและปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่อีกด้วย
เปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นอาหาร
- นำไปปลูกใหม่ : เศษผักบางชนิดสามารถนำส่วนที่เหลือ หรือส่วนที่เราไม่ใช้ไปปลูกใหม่ได้ เช่น โหระพา สะระแหน่ ตะไคร้ แมงลัก กระเทียม ขิง และอีกหลายชนิด โดยอาจใช้ในส่วนของต้น ใบ หรือกิ่ง นำไปเพาะชำ ปักลงดิน หรือแช่น้ำเพื่อให้รากงอกใหม่ก่อนนำไปลงดิน ให้งอกใหม่ วิธีนี้จะทำให้เรามีผักที่สะอาด สดใหม่ และปลอดสารพิษไว้บริโภค แถมยังช่วยประหยัดไปในตัว
- นำไปเลี้ยงสัตว์ : ขยะเศษอาหารบางอย่างที่เรานำมาบริโภคต่อไม่ได้ แต่อาจนำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ ซึ่งเศษอาหารเหลือจากการบริโภคของเราแต่ยังทานได้ เช่น ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว น้ำซุป เศษเนื้อสัตว์ เศษผัก ผลไม้ และควรเลือกให้เหมาะสมกับประเภทของสัตว์แต่ละชนิด เช่น เศษผักและผลไม้นำไปเลี้ยงไก่และเป็ด เศษเนื้อสัตว์ไม่ติดกระดูกนำไปให้สุนัข หรือเศษอาหารชิ้นเล็ก ๆ นำไปเลี้ยงปลา เป็นต้น
- นำไปใช้ประโยชน์ต่อ : เศษอาหารบางชนิดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นต่อได้ เช่น กากกาแฟ นำไปใช้ทำความสะอาดวัสดุหรือพื้นผิว หรือนำไปใช้ดูดซับกลิ่นเหม็นอับในบริเวณต่าง ๆ หรือจะนำไปใช้สครับผิวก็ได้ผลดีเช่นกัน เปลือกไข่ใช้ผสมดินปลูกต้นไม้ หรือแยกน้ำมันที่ใช้แล้วจากการปรุงอาหารเทรวมกัน แล้วส่งต่อไปยังจุดที่ผลิตไบโอดีเซล เป็นต้น
- นำเศษอาหารไปทำปุ๋ย : แยกขยะอาหารที่มีความชื้นสูงออก เช่น น้ำแกง น้ำซุป น้ำผักผลไม้ เพื่อลดกลิ่นเหม็นเน่า จากนั้นหั่นเศษอาหารให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้การย่อยสลายเร็วขึ้น แล้วนำไปผสมกับเศษใบไม้ กิ่งไม้ ปุ๋ยคอกแห้ง กากกาแฟ (ให้ดูดความชื้น) และน้ำตาลหรือกากน้ำตาล เนื่องจากน้ำตาลเป็นอาหารของจุลินทรีย์ จะช่วยเร่งการย่อยสลายได้เร็วขึ้น คลุกให้เข้ากันจนแห้ง แล้วหมักทิ้งไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 30 วัน จะได้ปุ๋ยบำรุงดินดินสำหรับปลูกต้นไม้ หรือถ้าต้องการน้ำหมักชีวภาพให้ใช้เศษผักหรือเปลือกผลไม้ผสมกับการน้ำตาลและน้ำ หมักทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป จะได้น้ำหมักชีวภาพไว้ใช้รดน้ำบำรุงต้นไม้
ใช้เครื่องย่อยเศษอาหารเปลี่ยนให้เป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้
เครื่องย่อยเศษอาหาร คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะช่วยทำการเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างรวดเร็ว จากการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารแบบดั้งเดิม ที่ต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรืออาจนานเป็นเดือน ๆ แต่เครื่องย่อยขยะอาหารนี้กลับใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน! ช่วยกำจัดขยะอาหารให้ให้หมดไป แต่ได้ปุ๋ยออแกนิกจากขยะเศษอาหารฟรี ๆ ง่าย สะดวก รวดเร็ว แค่แยกน้ำออกไปทิ้งต่างหาก เทเฉพาะกากอาหารลงไปในเครื่อง กดปุ่มให้ทำงาน ก็เป็นอันเสร็จสรรพ ไม่มีกลิ่นเหม็นคอยรบกวนใจ หมดปัญหาเรื่องแมลงตอมถังขยะ ช่วยให้มีสุขอนามัยภายในบ้านที่ดี และยังช่วยลดการใช้ถุงขยะใส่เศษอาหาร ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลง ที่สำคัญ เครื่องย่อยขยะเศษอาหารได้ถูกออกแบบให้มีขนาดกระทัดรัด เพื่อให้สะดวกต่อการติดตั้งได้ทุกรูปแบบการอาศัย แม้จะเป็นห้องเช่า หรือคอนโดที่มีพื้นที่จำกัดก็ตาม เพียงเท่านี้ก็ได้ปุ๋ยคุณภาพดีบำรุงต้นไม้และพืชผัก แถมยังช่วยลดปริมาณขยะ ช่วยรักษ์โลกได้ง่าย ๆ จากที่บ้านคุณเอง