เทศกาลลอยกระทง ประเพณีสำคัญของคนไทย สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พร้อมกับจุดกำเนิดนางนพมาศ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมต่อเนื่องที่จัดขึ้นทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ จุดประสงส์ของการลอยกระทง เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา เทพธิดาแห่งสายน้ำ และเป็นการสะเดาเคราะห์ส่งท้ายปี ก่อนขึ้นปีใหม่ รับสิ่งที่ดีใหม่ ๆ เข้ามา 

แม้ว่าการลอยกระทงถือเป็นประเพณีที่คนไทยสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่รู้หรือไม่ว่า ไม่ได้มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่จัดงานลอยกระทง การลอยประทีปเพื่อขอขมาพระแม่คงคา เป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเชีย ซึ่งมี 5 ประเทศ จัดงานลอยประทีป ขอบคุณธรรมชาติ เป็นประเพณีสืบทอดมาเนิ่นนานเช่นเดียวกับไทย ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันไป จะมีประเทศใดบ้าง และเรียกว่าอะไรกันบ้าง ทีมงาน justelounge รวบรวมข้อมูลมาไว้ในบทความนี้แล้วค่ะ 

1. ประเทศลาว 

ลาว มีเทศกาลไหลเฮือไฟ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยจะจัดทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ตรงกับวันออกพรรษา ช่วงเดือนตุลาคม หรือ เดือนพฤศจิกายน ตามปฏิทินสากล ซึ่งเทศกาลไหลเฮือไฟ แม้จะจัดขึ้นในช่วงออกพรรษา แต่ลักษณะของเทศกาล และจุดประสงค์ คล้ายกับการลอยกระทงของคนไทย โดยประเพณีไหลเรือไฟของลาว เพื่อเป็นการบูชาพระธาตุจุฬามณี ซึ่งเชื่อกันว่าตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงทำการลอยเรือไฟให้ขึ้นไปบนสวรรค์ บูชาพระธาตุจุฬามณี ไม่เพียงแค่นั้น การลอยเรือไฟ เพื่อเป็นการระลึกบุญคุณ และขอขมาต่อพระแม่คงคา สำหรับประทานน้ำดื่มน้ำใช้ให้แก่ชาวลาว และเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณต่อตน เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เป็นต้น 

เรือไฟ ส่วนใหญ่มักจะทำด้วยไม้ไผ่และกระดาษ ตกแต่งและประดับประดาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และโคมไฟหลากสี โดยขนาดของเรือไฟแต่ละลำแตกต่างกันไป มีตั้งแต่เรือลำเล็ก ไปจนถึงเรือลำขนาดใหญ่ เรือลำใหญ่มาก ๆ อาจมีความยาวถึง 10 เมตร เลยทีเดียว 

การจัดเทศกาลงานไหลเรือไฟ จะเริ่มจัดกันตั้งแต่เช้า โดยจะมีการประกวดเรือไฟสวยงามในช่วงเช้าและกลางวัน จากนั้นก็จะมีการลอยเรือไฟลงแม่น้ำโขงในช่วงค่ำ ทำให้แม่น้ำโขงสว่างไสวไปด้วยแสงไฟจากเรือนับหมื่นลำ สวยงามวิจิตรตระการตาเป็นอย่างมาก สร้างความตื่นตื่นใจแก่ผู้คนทั้งสองฝั่งโขงและนักท่องเที่ยวที่ไปร่วมงาน

2. ประเทศเมียนมา 

วัฒนธรรมร่วมที่เป็นเทศกาลสำคัญของชาวเมียนมา คือ เทศกาลแห่งแสงสว่าง เรียกว่า “เทศกาลซองไดง์” (Tazaungdaing Festival) ตรงกับเดือนตะสองโมง (Tazaungmone) หรือ เดือน 8 ตามปฏิทินดั้งเดิมของชาวเมียนมา หรือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม ตามปฏิทินสุริยคติ โดยจุดประสงค์ของเทศกาลซองไดง์ จัดขึ้นเพื่อสักการะพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเฉลิมฉลองการสิ้นสุดฤดูฝน – ฤดูกฐิน 

ภายในงานซองไดง์ จะมีการปล่อยโคมยักษ์ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งโคมเหล่านั้นจะถูกตกแต่งให้มีรูปทรงและลวดลายต่าง ๆ บ้างก็ประดับประดาไปด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ดอกไม้ไฟ ประทัด และสิ่งประดับอื่น ๆ ตามแต่ที่เจ้าของโคมจะรังสรรค์ เพื่อให้โคมมีความสวยงามและเสียงดังกระหึ่ม เมื่อปล่อยโคมลอยสู่ท้องฟ้า โดยชาวเมียนมาเชื่อว่าการปล่อยโคมลอยเป็นการบูชาพระธาตุจุฬามณี พระธาตุศักดิ์สิทธิที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้าที่ตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และยังเป็นการลอยทุกข์ ลอยโศก ลอยสิ่งอัปมงคลให้ออกไปจากชีวิต

เทศกาลซองไดง์มีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย ที่นอกจากการลอยโคมยักษ์ เช่น การทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระพุทธรูป การแสดงศิลปะพื้นบ้าน และการแข่งขันทอเสื้อคลุม ซึ่งเป็นงานรื่นเริงประจำปีที่ชาวเมียนมานิยมและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นประเพณีที่มีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษอย่างยาวนาน ทำให้มีชาวเมียนมานับหมื่น นับแสนคน หลั่งไหลมาร่วมงานซองไดง์ทุกสารทิศ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วยเช่นกัน 

3. ประเทศกัมพูชา 

ประเทศกัมพูชามีงานลอยกระทงเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ประเพณีลอยกระทงของชาวกัมพูชา เรียกว่า “บ็อณแฎตปรอตีป” หรือ Bong Dzat Proti แปลว่า “ลอยประทีป” ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 14 ค่ำ โดยชาวกัมพูชาจะทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ทั่วไป เช่น ใบตอง ใบไผ่ ไม้ไผ่ ใบไม้ที่มีความสวยงาม ตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูปเทียน โคมไฟหลากสีสัน และอื่น ๆ ตามแต่ที่จะหาได้ กระทงมีขนาดน้อย – ใหญ่ ต่างกันไป ขึ้นกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ บางกระทงอาจมีความสูงถึง 7 – 10 เมตร และมีการนำเหรียญกษาปณ์ใส่ลงในกระทงก่อนจะนำไปลอย เพื่อบูชาพระแม่คงคาในแม่น้ำโขง และโตนเลสาบ (ทะเลสาบในเมียนมา) อีกทั้งยังเป็นการลอยทุกข์โศก ลอยสิ่งไม่ดีออกไปจากชีวิต (ซึ่งเป็นคติความเชื่อของชาวเอเชียในหลายประเทศ) 

สถานที่จัดงานลอยกระทงที่เป็นจุดสำคัญในกัมพูชา ได้แก่ กรุงพนมเปญ เมืองเสียมเรียบ และ เมืองพระสีหนุ ซึ่งงาน บ็อณแฎตปรอตีป จะได้รับความสนใจจากชาวกัมพูชา และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยมีคนจำนวนมากเดินทางมาร่วมงานนี้กันอย่างคับคั่งทุกปี 

4. ประเทศศรีลังกา 

งานลอยกระทงของชาวศรีลังกา เรียกว่า “เทศกาลโพยา” หรือ Fool moon poya จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ ถือกำเนิดขึ้นจากความเชื่อทางพุทธศาสนา โดยมีจุดประสงค์หลักของศรีลังกา เพื่อแสดงความเคารพ และขอขมาพระแม่คงคา ที่อาจเคยล่วงเกินในทางใดทางหนึ่ง และเพื่อขอพรให้ชีวิตมีความสุขความเจริญ คล้ายกับงานลอยกระทงของไทย 

กระทงของชาวศรีลังกาจะตกแต่งด้วยวัสดุธรรมชาติ ประดับประดาด้วยดอกไม้อย่างสวยงาม ธูปเทียน และขนมหวานต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงฝีมือการประดิษฐ์และวัฒนธรรมของชาวศรีลังกา นอกจากนี้ ชาวศรีลังกาจะทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา ถวายดอกไม้ ธูปเทียน และเวียนเทียนรอบพระเจดีย์ตามวัดและอารามต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา เทศกาลโพยานอกจากจะได้รับความสนใจจากชาวศรีลังกาแล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ให้ความสนใจ และเดินทางไปร่วมงานเพื่อสัมผัสถึงประเพณีและวัฒนธรรมของชาวศรีลังกาที่จัดขึ้นทุกปี 

5. ประเทศอินเดีย 

ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณของอินเดีย ซึ่งไทยรับเข้ามาและประยุกต์จนกลายเป็นประเพณีลอยกระทงแบบฉบับของคนไทย โดยมาจากเทศกาลดั้งเดิมของอินเดีย เรียกว่า “เทศกาลดิวาลี” (Diwali) หรืออีกชื่อที่เรียกว่า “ดีปาวลี” (Deepavali) แปลว่า “เทศกาลแห่งแสงสว่าง” เป็นเทศกาลสำคัญของศาสนาฮินดู ซึ่งชาวอินเดียส่วนใหญ่นับถือมาก่อนพุทธกาล โดยจะจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนกฤษณะ (Kartika) ตามปฏิทินจันทรคติ คือ ช่วงเดือนตุลาคม หรือ พฤศจิกายน 

ในช่วงเทศกาลแห่งแสงสว่าง หรือ ดิวาลี ชาวอินเดียจะนิยมประดับประดาบ้านเรือน ร้านค้า และสถานที่ต่าง ๆ ด้วยโคมไฟ และเทียนไขหลากสีสัน อีกทั้งยังถือโอกาสทำความสะอาดบ้านเรือน ตกแต่งบ้าน สวมใส่เสื้อผ้าใหม่ และเตรียมอาหารคาว – หวาน เพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลี ที่จะเริ่มขึ้นในช่วงวันสิ้นสุดฤดูฝน และเตรียมเข้าสู่ฤดูหนาว 

กิจกรรมในเทศกาลดิวาลีของชาวอินเดีย ได้แก่ 

  • บูชาพระแม่ลักษมี เทวีแห่งโชคลาภ และความเจริญรุ่งเรือง โดยชาวอินเดียจะทำการบูชาเพื่อขอพรโชคลาภจากพระเทวี ให้ชีวิตประสบความสำเร็จตลอดปี 
  • จุดโคมไฟและดอกไม้ไฟ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลดิวาลี โดยชาวอินเดียชื่อว่า แสงสว่างจะช่วยขับไล่ภูติผีปีศาจ สิ่งชั่วร้าย และความมืดมิดออกไป และนำความสว่างมาสู่ชีวิต 
  • แลกเปลี่ยนของขวัญ ชาวอินเดียนิยมแลกของขวัญเพื่อแสดงความรัก และความปรารถนาดีต่อกันในช่วงเทศกาลดิวาลี  

เทศกาลดิวาลี ถือว่าเป็นเทศกาลแห่งความสุขของชาวอินเดีย โดยตลอดเทศกาลนี้ ชาวอินเดียทุกคนจะมีแต่รอยยิ้ม และรู้สึกมีความหวังถึงความสุขที่กำลังจะเข้ามาในชีวิต