ปัจจุบัน ไฟฟ้า เป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับในการดำเนินชีวิต ทั้งในระบบชีวิตส่วนตัว การทำงาน ธุรกิจ กิจการ หรือการอุตสาหกรรม เพราะเราทุกคนต่างใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องใช้ ในการอำนวยความสะดวกที่มีความเกี่ยวโยงกับระบบไฟฟ้าทั้งสิ้น ตั้งแต่ กาต้มน้ำ หม้อหุงข้าว พัดลม โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น ช่างไฟฟ้า จึงเป็นอาชีพที่น่าสนใจ และผู้ที่เรียนมาทางสาขาวิชานี้ แทบจะไม่มีการตกงาน ยิ่งถ้ามีความสามารถ มีการศึกษาต่อในระดับสูง ๆ มีประสบการณ์ทำงานสูง ก็ยิ่งต่อยอดไปเป็นวิศวกร หรือผู้รับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้า จนสามารถสร้างรายได้สูงขึ้นไปอีก
แม้ว่าอาชีพช่างไฟฟ้าจะได้ผลตอบแทนสูง แต่การทำงานกับกระแสไฟฟ้า ก็มีความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตและสาธารณชนสูงเช่นกัน ดังนั้นผู้ที่จะยึดอาชีพช่างไฟฟ้า จะต้องมีความรู้ความสามารถและความชำนาญด้านการไฟฟ้าโดยเฉพาะ ทักษะช่างไฟฟ้าที่ควรรู้มีอะไรบ้าง
ชนิดของไฟฟ้า
ไฟฟ้า จำแนกได้เป็น 2 แบบใหญ่ ๆ ได้แก่
- ไฟฟ้ากระแสตรง (Direct current : D.C.) คือ กระแสไฟฟ้าที่มีทิศทางการไหลไปในทิศทางเดียวกันตลอดระยะทางวงจรกระแสไฟฟ้าปิด เช่น ถ่านไฟฉาย เป็นต้น
- ไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating current : A.C.) คือ กระแสไฟฟ้าที่มีการไหลเวียนวนกลับไปกลับมา ทั้งในส่วนของขนาดกระแสไฟฟ้า และแรงดันไม่คงที่ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยกระแสไฟฟ้าจะไหลไปทางหนึ่งก่อน จากนั้นจะไหลสวนกลับการไหลไป-มา 1 รอบ (เรียกว่า 1 cycle)
คุณสมบัติของกระแสไฟฟ้า
ช่างไฟฟ้าจะต้องรู้คุณสมบัติของกระแสไฟฟ้าทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้ากระแสตรง หรือกระแสไฟฟ้าสลับ เช่น กระแสตรงมีค่าแรงดันหรือแรงเคลื่อนไฟฟฟ้าเป็น + เสมอ สามารถเก็บประจุไว้ในแบตเตอรี่ได้ ส่วนกระแสไฟฟ้าสลับจะมีคุณสมบัติสามารถส่งไปที่ไกล ๆ ได้ดีโดยกำลังไม่ตก และยังสามารถแปลงแรงดันได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะต้องการแปลงแรงดันให้สูงขึ้นหรือต่ำลง ด้วยการใช้หม้อแปลง เป็นต้น
วงจรไฟฟ้า (Circuit)
วงจรไฟฟ้า คือ ทางเดินของกระแสไฟฟ้าที่ไหลมาจากแหล่งผลิต หรือแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้า แล้วผ่านไปยังตัวนำและเครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วไหลกลับไปยังแหล่งกำเนิด ด้วยวิธีการต่อวงจรไฟฟ้า ที่มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น
- การต่อแบบอนุกรม โดยการนำปลายด้านหนึ่งต่อกับปลายอีกด้านหนึ่ง แล้วต่อเรียงกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งการต่อแบบอนุกรมจะไม่นิยมใช้ในการต่อวงจรทั่วไป
- การต่อวงจรแบบขนาน คือ การต่อวงจรที่ใช้กับไฟฟ้าแสงสว่างทั่วไป และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเรือน เช่น หม้อหุงข้าว เตารีด พัดลม เป็นต้น
- การต่อวงจรแบบผสม คือ การต่อโดยการนำแบบอนุกรมและการต่อแบบขนาน มารวมกันในวงจรเดียวกัน ซึ่งการต่อแบบนี้นิยมในพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
อุปกรณ์ช่างไฟฟ้า
การเป็นช่างไฟฟ้า จะต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือในการช่วยเพิ่มความอำนวยสะดวกในการทำงาน และเพื่อป้องกันการสัมผัสโดนกระแสไฟฟ้าโดยตรง เพราะหากกระแสไหลผ่านเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดอันตรายจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น ช่างไฟฟ้าจึงต้องมีเครื่องมือในการทำงานเสมอ ซึ่งผู้จะเป็นช่างไฟฟ้าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้จักเครื่องมือต่อไปนี้
- ไขควง โดยรวมไขควงทุกชนิด ทั้งไขควงปากแบน ไขควงปากแฉก
- ไขควงวัดไฟ จะมีหลอดไฟอยู่ที่ด้าม สำหรับใช้ทดสอบวงจรไฟฟ้า ซึ่งจะแตกต่างจากไขควงสกรู
- คีม ทั้งคีมปากแบน คีมปากจิ้งจก คีมตัด คีมปอกสาย
- สว่าน สำหรับใช้ในการเจาะยึดอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น สว่านไฟฟ้า สว่านเฟือง สว่านข้อเสือ เป็นต้น
- มีดคัดเตอร์ สำหรับใช้ในการตัด ควั่นสายไฟฟ้า หรือปอกฉนวน
- ฟิวส์ อุปกรณ์ทำด้วยโลหะผสมตะกั่วและดีบุก สำหรับไว้ป้อ้งกันไม่ให้กระแสไฟฟ้าไหล้เข้ามามากเกินไป
- สวิตซ์ อุปกรณ์ตัดต่อวงจรไฟฟ้า โดยทำหน้าที่คล้ายกับสะพานไฟ
- สะพานไฟ ใช้สำหรับทดสอบวงจรไฟฟ้า
- บัลลาสต์ สำหรับไว้เพิ่มความต่างศํกย์ไฟฟ้า
- มิเตอร์ไฟฟ้า ใช้สำหรับทดสอบวงจรไฟฟ้า โดยจะมีหลายแบบด้วยกัน เช่น แอมมิเตอร์ โวลต์มิเตอร์ เป็นต้น
- ค้อน เพื่อใช้ในการตอกตะปู เพื่อยึดเข็มขัดรัดสาย สายไฟแทบทุกประเภท
ลักษณะงานของช่างไฟฟ้าต้องทำอะไรบ้าง
ช่างไฟฟ้าจะทำงานทางเทคนิคภายใต้การควบคุม และการแนะนำจากวิศวกรไฟฟ้า ทั้งในส่วนของการก่อสร้าง การติดตั้ง การทดสอบ การใช้ การบำรุงกรักษา การพัฒนาระบบไฟฟ้า และการซ่อมบำรุง ทั้งในส่วนของระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยลักษณะการทำงานของช่างไฟฟ้าจะคล้ายกับผู้ช่วยวิศวกร คุมงาน ออกแบบและเขียนแบบติดตั้ง ระบบไฟฟ้าภายในอาคารและรบไฟฟ้านอกอาคาร ตั้งแต่การเดินสายไฟ การวางแผนผังวางสายไฟ การมุดสายลงท่อ การดูแลระบบแผงจ่ายไฟในตู้ควบคุมไฟฟ้า ตรวจเช็ค ตรวจสอบเครื่องควบคุมไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้าในบ้าน หรือการควบคุมเครื่องจักรด้วยระบบปุ่มกดหรือระบบอัตโนมัติในโรงงาน นอกจากนี้ยังต้องมีความรู้และสามารถการเดินสายไฟฟ้าระบบจ่ายพลังงาน ควบคุมดูแล ซ่อมบำรุง อุปกรณ์การทำงานในกระบวนการผลิตของงานอุตสาหกรรม และปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในหน้าที่หรือที่ได้รับมอบหมาย
ช่างไฟฟ้าต้องเรียนอะไรบ้าง
เนื่องจากระบบไฟฟ้ามีความเสี่ยงต่อการเป็นอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินสูง ผู้ที่ต้องทำงานกับไฟฟ้าอย่างช่างไฟฟ้า จึงต้องมีความรู้ความชำนาญด้านการไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยช่างไฟฟ้าจะต้องเรียนเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เช่น การเดินสายไฟฟ้าในบ้าน การติดตั้งระบบและเครื่องใช้ไฟฟ้า การวางแผนผังระบบวงจรไฟฟ้า การทดสอบระบบ การตรวจเช็ค การตรวจหาสาเหตุของปัญหาระบบไฟฟ้าขัดข้อง แก้ไขและซ่อมบำรุงเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น โดยจะต้องผ่านการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 3 หรือเทียบเท่า ปวช. เป็นอย่างน้อย และจะต้องมีการผ่านอบรมด้านงานไฟฟ้าเพิ่มเติม จะยิ่งช่วยให้ช่องทางในการดำรงอาชีพช่างไฟฟ้าเติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
แหล่งงาน
เมื่อจบการศึกษาด้านไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะทำงานให้กับผู้รับเหมางานด้านไฟฟ้า พนักงานการไฟฟ้าของรัฐบาลหรือเอกชน หรือเป็นช่างไฟฟ้าโรงงานอุตสาหกรรม และ ช่างไฟฟ้าอิสระ หรือเป็นผันตัวเป็นผู้รับเหมามีกิจการเป็นของตนเอง เป็นต้น
อาชีพช่างไฟฟ้ามีโอกาสเติบโตได้มากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่อยู่ในอาชีพที่จะตกงาน เพราะวิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันที่มีไฟฟ้าเข้าเกี่ยวพันและมีบทบาท ตั้งแต่ลืมตาตื่น ตลอดวันจนจะเข้านอน ก็ยังมีการใช้งานไฟฟ้า ทั้งงานไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟฟ้าด้านการสื่อสาร ไฟฟ้าด้านคมนาคม และมีแนวโน้มว่า ไฟฟ้า มีความจำเป็นในระบบชีวิตของคนมากขึ้นเรื่อย ๆ โอกาสของช่างไฟฟ้าจึงสูงไปตามความสำคัญของการใช้ไฟฟ้า ยิ่งช่างไฟฟ้าที่มีประสบการณ์สูงมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสเติบโตและผลตอบแทนของรายได้ที่สูงขึ้น และช่างไฟฟ้าจะยังคงเป็นอาชีพที่สำคัญจนถึงอนาคตเลยทีเดียว ตราบใดที่เรายังคงต้องใช้ระบบไฟฟ้านั่นเอง