เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉิน หรือมีเหตุด่วนที่ต้องใช้เงินแบลกระทันหัน แต่เงินที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอ จะไปกู้สถาบันการเงินก็มีขั้นตอนยุ่งยากและอาจใช้เวลานาน หรือจะหยิบเงินคนรอบข้างก็เกรงใจและอาจบาดหมางใจในอนาคตได้ แต่ยังมีทรัพย์สินติดตัว หรือข้าวของในบ้านที่น่าจะพอแปรสภาพเป็นเงินได้ โรงรับจำนำจึงเป็นตัวเลือกที่หลายคนมักจะนึกถึง และอาจเป็นคำตอบที่ดีในขณะนั้น เพราะสามารถนำของที่มีไปแลกเงินมาใช้ก่อน แล้วค่อยไปไถ่ถอนคืนกลับมาได้ในภายหลัง สำหรับคนที่ใช้บริการเป็นประจำ คงรู้ข้อมูลดีอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยใช้บริการเลย เป็นว่าที่ลูกค้าหน้าใหม่ที่เพิ่งจะใช้บริการ ก็อาจไม่แน่ใจว่าสิ่งของที่เรามีอยู่นั้น สามารถนำไปจำนำได้ไหม เพราะไม่รู้ว่าโรงรับจำนำรับจำนำอะไรบ้าง หรือโรงรับจำนำเปิดวันเสาร์ไหม เพราะไม่ยุ่งยากในการลางาน การส่งดอกและไถ่ถอนคืนทำยังไง และโรงรับจำนำรัฐบาล ดอกเบี้ยให้พอ ๆ กับเอกชนไหม  ไปดูคำตอบกันเลย 

ภาพจาก https://www.thairath.co.th/

การนำสิ่งของไปจำนำกับโรงรับจำนำทั่วไป 

โดยทั่วไปแล้ว โรงรับจำนำทุกแห่งจะรับจำนำทรัพย์สินที่ไม่ที่สามารเคลื่อนย้ายได้ทุกชนิด แต่จะต้องไม่มีการตีทะเบียนใด ๆ ทั้งสิ้น และคนที่ไปใช้บริการโรงรับจำนำจะต้องไม่ใช่ภิกษุ และ สามเณร อีกทั้งผู้จำนำจะต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 

โรงรับจำนำรับอะไรบ้าง 

ทรัพย์สินหรือสิ่งของที่โรงรับจำนำทั่วไปรับจำนำ มี 6 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้ 

1. ทองคำ ทั้งทองคำแท่ง และทองรูปพรรณ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่โรงรับจำนำทุกแห่งให้การยอมรับ อีกทั้งยังให้ราคาสูงกว่าสิ่งของทุกประเภทที่รับจำนำ แถมดอกเบี้ยก็ถูกกว่าการไปจำนำที่ร้านทองทั่วไป (เป็นอีกข้อดีของการเก็บทองเลยล่ะ) 

2. อัญมณีทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเพชร พลอย นิล ทับทิม มรกต เงิน หรือนาก ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่เป็นเครื่องประดับ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู หรือจี้ และเข็มกลัด 

3. สินค้าแบรนด์เนมทุกประเภท ทั้งกระเป๋า รองเท้า แว่นตา นาฬิกา โดยเฉพาะโรงรับจำนำเอกชนที่มีผู้เชี่ยวชาญการตีราคาสินค้า

4. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุค แท็บเล็ต อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า วิทยุหรือ กระติกน้ำร้อน เป็นต้น 

5. เครื่องมือช่าง เช่น เลื่อยไฟฟ้า สว่านไฟฟ้า เครื่องตัดเหล็ก เครื่องปั่นไฟ ปั๊มลม รวมถึง กระเป๋าอุปกรณ์ช่าง ซึ่งสิ่งเหล่าถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้ประกอบในอาชีพ หากผู้จำนำไม่มาไถ่ถอน โรงรับจำนำก็สามารถนำไปขายต่อในราคาสินค้าหลุดจำนำได้

6. ของใช้เบ็ดเตล็ดทั่วไป เช่น งานศิลปะ เครื่องดนตรี พระเครื่อง เป็นต้น 

โรงรับจำนำรัฐบาลรับจำนำอะไรบ้าง

ทีนี้มาดูโรงรับจำนำรัฐบาล ที่รู้จักกันในชื่อ “สถานธนานุเคราะห์โรงรับจำนำของรัฐ” รับจำนำสิ่งของประเภทไหนบ้างกันดีกว่า 

สถานธนานุเคราะห์โรงรับจำนำของรัฐ หรือ สธค. รับจำนำสินทรัพย์คล้าย ๆ กับโรงรับจำนำทั่วไป เพียงแต่เงื่อนไขในการรับจำนำสิ่งของที่แตกต่างกันไป รวมไปถึงรายละเอียดของการจ่ายดอก ระยะเวลาไถ่ถอน และอัตราดอกเบี้ย อาทิ เช่น

1. ทองคำและอัญมณี ทอง นาก เงิน ที่เป็นรูปพรรณ ตั๋วฉบับละไม่เกิน 100,000 บาท 

2. อุปกรณ์อาชีพ หรืออุปกรณ์ในครัวเรือน เช่น หม้อก๋วยเตี๋ยว ครกหิน ที่มีสภาพสมบูรณ์ ยิ่งเก่า ยิ่งได้ราคาดี 

3. จักรยาน แต่ต้องมีสภาพสมบูรณ์ หรืออยู่ในสภาพดี 

4. เครื่องมือ ของใช้เบ็ดเตล็ด เช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือช่าง ของแบรนด์เนม แว่นตา กระเป๋า นาฬิกา เครื่องเกม PS4  ตั๋วฉบับละไม่เกิน 50,000 บาท 

5. ตั๋วรับจำนำแต่ละฉบับมีอายุไม่เกิน 4 เดือน 30 วัน โดยที่ผู้จำนำสามารถส่งดอกขอผ่อนครบกำหนดได้ และสามารถเพิ่มเงินต้นได้หากสิ่งที่จำนำมีมูลค่าสูงกว่าที่ประเมินราคาไว้ แต่ต้องไม่เกินวงเงินที่กำหนด 

กรณีที่จำนำของหลายชิ้น สามารถจำนำได้โดยที่เมื่อรวมทุกรายการแล้ว ต้องไม่เกินวงเงิน 500,000 บาท / 1 ราย / วัน 

สธค.ไม่รับจำนำอะไรบ้าง 

เพื่อไม่ให้ผู้ที่ต้องการนำของไปจำนำ แต่ต้องผิดหวังและเดินทางไปเก้อ เรามีตัวอย่างสิ่งของที่สถานธนานุเคราะห์โรงรับจำนำของรัฐ ไม่รับจำนำมีอะไรบ้าง 

1. หม้อหุงข้าว ที่มีสภาพเก่าเกิน 50% และไม่มีสายไฟ (ไม่รับ) 

2. รถจักรยานยนต์ที่มีทะเบียนป รถยนต์ ปืน บ้าน ที่ดิน (ไม่รับ) 

3. เครื่องเล่นเกมพกพาทุกประเภท (ไม่รับ) 

4. สุราและเครื่องดื่มมึนเมาทุกประเภท ทุกแบรนด์ (ไม่รับ) 

5. อื่น ๆ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของโรงรับจำนำ 

ดังนั้น ก่อนนำสิ่งของไปจำนำที่ใดก็ตาม ควรสอบถามว่ารับจำนำอะไร และไม่รับจำนำอะไรบ้าง จะได้ไม่เสียเวลาการเดินทาง

ขั้นตอนการจำนำต้องทำยังไงบ้าง 

เมื่อรู้ว่าโรงรับจำนำรับจำนำอะไรหรือไม่รับจำนำอะไรบ้าง ต่อไปคือการเข้าไปใช้บริการ โดยจะเตรียมสิ่งของที่ต้องการไปจำนำ และเอกสารที่ต้องใช้ประกอบในการจำนำ ได้แก่ บัตรประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่ออกโดยราชการ แล้วทำขั้นตอนต่อไป ดังนี้ 

  1. ยื่นบัตรประชาชน หรือบัตรประจำตัวที่ออกโดยราชการ 
  2. รอให้โรงรับจำนำประเมินราคา 
  3. ตกลงราคา 
  4. สแกนลายนิ้วมือ 
  5. รับเงินพร้อมตั๋วจำนำ 

ขั้นตอนการส่งดอก 

เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปส่งดอกตามกำหนด ให้เตรียมบัตรประชาชนและตั๋วจำนำที่ได้มาตอนแรกไปด้วย แล้วทำตามขั้นตอน ดังนี้ 

  1. แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า “ส่งดอก” พร้อมกับยื่นบัตรประชานและตั๋วจำนำ
  2. ชำระดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ในตั๋ว (คนอื่นสามารถมาส่งดอกแทนได้ โดยไม่ต้องมอบฉันทะ และตั๋วฉบับต่อไปก็ยังคงเป็นชื่อเดิมของผู้จำนำตัวจริง) 
  3. รับตั๋วจำนำฉบับใหม่ โดยมีระยะเวลาไปอีก 4 เดือน 30 วัน 

คนอื่นไปส่งดอกแทนได้ไหม 

การไปส่งดอก สามารถให้คนอื่นไปทำเรื่องแทนได้ โดยจะต้องมีการมอบฉันทะ ซึ่งวิธีมอบฉันทะไปส่งดอก มีดังนี้ 

  1. เจ้าของตั๋วพิมพ์ลายนิ้วมือ มอบฉันทะด้านหลัง 
  2. กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน (ให้ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้) 
  3. เตรียมสำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของตั๋วและผู้รับมอบฉันทะ
  4. ไปโรงรับจำนำเพื่อส่งดอก พร้อมยื่นเอกสารที่เตรียมไว้ทั้งหมด 

การไถ่ถอนของจำนำคืนทำอย่างไร 

เมื่อครบกำหนด หรือต้องการไถ่ถอนของที่จำนำไว้ก่อนกำหนด ให้เตรียมตั๋วจำนำฉบับล่าสุด และบัตรประชาชน โดยจะมีขั้นตอนการไถ่ถอนของจำนำคืน ดังนี้

  1. แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า “ไถ่ถอน” พร้อมยื่นบัตรประชาชนและตั๋วจำนำฉบับล่าสุด
  2. สแกนลายนิ้วมือ 
  3. ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 
  4. รับสินทรัพย์คืน 

ตั๋วจำนำหาย ทำอย่างไรได้บ้าง 

กรณีที่ทำตั๋วจำนำหาย ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ 

  1. ให้เจ้าของตั๋วแจ้งที่โรงรับจำนำที่ได้ทำการจำนำไว้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออก”ใบแทน” ให้ 
  2. นำใบแทนที่ได้จากโรงรับจำนำไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ 
  3. นำใบแทนจากโรงรับจำนำ และใบบันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจ กลับไปยื่นให้กับโรงรับจำนำเพื่อส่งดอกต่อ หรือไถ่ถอนของจำนำคืน 

อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องการใช้เงินด่วน หรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินกระทันหัน “โรงรับจำนำ” นับว่าเป็นตัวช่วยที่ดีกว่าการไปกู้เงินนอกระบบอีกนะ